วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการจัดการสินค้าคงคลัง MRP กับ JIT

MRP (Material Requirement Planning) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับกิจการที่มีโรงงาน (Manufactoring) ซึ่งมีระบบผลิต โดย ภายใต้กำลังการผลิตที่มีจำกัดของโรงงาน ทั้งในแง่ของบุคลากร, เครื่องจักรในการผลิต รวมถึงเวลาในการทำงาน ทำอย่างไรหน่วยงานต่าง ๆ ในโรงงาน จึงจะสามารถใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ให้เกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินงาน และต่อสู้กับคู่แข่งได้ โดยโรงงานประกอบไปด้วยหน่วยงานที่รับผิดชอบในหน้าที่ซึ่งแตกต่างกัน ได้แก่ ฝ่ายวางแผนการผลิต (Planning), ฝ่ายผลิต (Production), ฝ่ายคลังสินค้าหรือสโตร์ (Warehouse), ฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing), ฝ่ายควบคุมการผลิต (Quality Control), ฝ่ายขาย (Sales) และฝ่ายบัญชี (Accounting) ดังนั้น การที่หน่วยงาน ดังกล่าวจะทำงาน โดยใช้ข้อมูลเดียวกันในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด การนำซอฟท์แวร์ระบบ MRP เข้ามาช่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ "ต้นทุน" เพื่อให้ทราบทั้งต้นทุนมาตรฐาน (Standard Cost) และ ต้นทุนที่แท้จริง (Actual Cost) เพราะจะทำให้กิจการสามารถทราบว่า การผลิตสินค้าใดก่อให้เกิดกำไรได้มากที่สุด หรือสินค้าใด ที่ผลิตแล้วไม่คุ้มทุน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจต่อการกำหนดแผนกลยุทธ์สำหรับผู้บริหารต่อไป

ประโยชน์หรือความสำคัญของโปรแกรม MRP ดังต่อไปนี้
- MRP ช่วยในการบริหารการผลิต, การวางแผนการผลิต,ควบคุมการผลิต

- MRP ช่วยในการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ
- MRP ช่วยลดความสูญเสียจากวัตถุดิบที่หมดอายุ
- MRP ช่วยวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบจากคู่ค้า
- MRP ช่วยลดต้นทุนการจัดซื้อวัตถุดิบ
- MRP ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
- MRP ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการผลิต
- MRP ช่วยวางแผนการใช้วัตถุดิบให้พอดีกับแผนการผลิต
- MRP ทำให้สามารถวางแผนและปรับแผนการผลิตได้โดยง่าย
- MRP ช่วยลดข้อผิดพลาดจากระบบเอกสารที่กระจัดกระจายไม่เชื่อมโยงกัน
- MRP ช่วยลดความซ้ำซ้อนของงานและเอกสารแต่ละแผนภายในโรงงาน
- MRP ทำให้ทราบต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าที่ผลิต
- MRP รองรับระบบคุณภาพต่าง ๆ เช่น TQM , QS , ISO เป็นต้น ฯลฯ

ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี ( Just-in-Time Production Systems) : JIT
การผลิตแบบ JIT คือ การที่ชิ้นส่วนที่จำเป็นเข้ามาถึงกระบวนการผลิตในเวลาที่จำเป็นและด้วยจำนวนที่จำเป็นหรืออาจกล่าวได้ว่า JIT คือ การผลิตหรือการส่งมอบ “ สิ่งของที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ด้วยจำนวนที่ต้องการ” ใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นเครื่องกำหนดปริมาณการผลิตและการใช้วัตถุดิบ ซึ่งลูกค้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะลูกค้าผู้ซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบุคลากรในส่วนงานอื่นที่ต้องการงานระหว่างทำหรือวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตต่อเนื่องด้วย โดยใช้วิธีดึง ( Pull Method of Material Flow ) ควบคุมวัสดุคงคลังและการผลิต ณ สถานีที่ทำการผลิตนั้นๆ ซึ่งถ้าทำได้ตามแนวคิดนี้แล้ววัสดุคงคลังที่ไม่จำเป็นในรูปของวัตถุดิบ งานระหว่างทำและสินค้าสำเร็จรูปจะถูกขจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง


วัตถุประสงค์ของการผลิตแบบทันเวลาพอดี
1. ควบคุมวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุดหรือให้เท่ากับศูนย์ ( Zero inventory )
2. ลดเวลานำหรือระยะเวลารอคอยในกระบวนการผลิต ( Zero lead time )
3. ขจัดปัญหาของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต ( Zero failures )
4. ขจัดความสูญเปล่าในการผลิต ( Eliminate 7 Types of Waste ) ดังต่อไปนี้
- การผลิตมากเกินไป ( Overproduction ) : ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ถูกผลิตมากเกินความต้องการ
- การรอคอย ( Waiting ) : วัสดุหรือข้อมูลสารสนเทศ หยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวหรือติดขัดเคลื่อนไหวไม่สะดวก
- การขนส่ง ( Transportation ) : มีการเคลื่อนไหวหรือมีการขนย้ายวัสดุในระยะทางที่มากเกินไป
- กระบวนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ ( Processing itself ) : มีการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น
- การมีวัสดุหรือสินค้าคงคลัง ( Stocks ) : วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมีเก็บไว้มากเกินความจำเป็น
- การเคลื่อนไหว ( Motion ) : มีการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นของผู้ปฏิบัติงาน
- การผลิตของเสีย ( Making defect ) : วัสดุและข้อมูลสารสนเทศไม่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น